วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2561

บทอาขยานพระอภัยมณี ตอน พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ



#ความรักของแม่ #บางทีสิ่งที่สวยงามที่สุดอาจไม่ต้องสมบูรณ์แบบก็ได้


การอ่านจับใจความ

ความหมายของการอ่านจับใจความสำคัญ

          คือ การอ่านเพื่อจับใจความหรือข้อคิด ความคิดสำคัญหลักของข้อความ หรือเรื่องที่อ่าน เป็นข้อความที่คลุมข้อความอื่น ๆ ในย่อหน้าหนึ่ง ๆ ไว้ทั้งหมด

          ใจความสำคัญ  หมายถึง ใจความที่สำคัญ และเด่นที่สุดในย่อหน้า เป็นแก่นของย่อหน้าที่สามารถครอบคลุมเนื้อความในประโยคอื่นๆ ในย่อหน้านั้นหรือประโยคที่สามารถเป็นหัวเรื่องของย่อหน้านั้นได้ ถ้าตัดเนื้อความของประโยคอื่นออกหมด หรือสามารถเป็นใจความหรือประโยคเดี่ยวๆ ได้ โดยไม่ต้องมีประโยคอื่นประกอบ ซึ่งในแต่ละย่อหน้าจะมีประโยคในความสำคัญเพียงประโยคเดียว หรืออย่างมากไม่เกิน  2 ประโยค

          ใจความรอง หรือพลความ(พน-ละ-ความ) หมายถึง ใจความ หรือประโยคที่ขยายความประโยคใจความสำคัญ เป็นใจความสนับสนุนใจความสำคัญให้ชัดเจนขึ้น  อาจเป็นการอธิบายให้รายละเอียด ให้คำจำกัดความ ยกตัวอย่าง เปรียบเทียบ หรือแสดงเหตุผลอย่างถี่ถ้วน เพื่อสนับสนุนความคิด ส่วนที่มิใช่ใจความสำคัญ และมิใช่ใจความรอง แต่ช่วยขยายความให้มากขึ้น คือ รายละเอียด

 

หลักการจับใจความสำคัญ

          ๑. ตั้งจุดมุ่งหมายในการอ่านให้ชัดเจน

          ๒. อ่านเรื่องราวอย่างคร่าวๆ พอเข้าใจ และเก็บใจความสำคัญของแต่ละย่อหน้า

          ๓. เมื่ออ่านจบให้ตั้งคำถามตนเองว่า เรื่องที่อ่าน มีใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร

          ๔. นำสิ่งที่สรุปได้มาเรียบเรียงใจความสำคัญใหม่ด้วยสำนวนของตนเองเพื่อให้เกิดความสละสลวย

วิธีจับใจความสำคัญ

          วิธีการจับใจความมีหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับความชอบว่าอย่างไร เช่น การขีดเส้นใต้ การใช้สีต่างๆ กัน แสดงความสำคัญมากน้อยของข้อความ การบันทึกย่อเป็นส่วนหนึ่งของการอ่านจับใจความสำคัญที่ดี แต่ผู้ที่ย่อควรย่อด้วยสำนวนภาษาและสำนวนของตนเองไม่ควรย่อด้วยการตัดเอาข้อความสำคัญมาเรียงต่อกัน เพราะอาจทำให้ผู้อ่านพลาดสาระสำคัญบางตอนไปอันเป็นเหตุให้การตีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้  วิธีจับใจความสำคัญมีหลักดังนี้

          ๑. พิจารณาทีละย่อหน้า หาประโยคใจความสำคัญของแต่ละย่อหน้า

          ๒. ตัดส่วนที่เป็นรายละเอียดออกได้ เช่น ตัวอย่าง สำนวนโวหาร อุปมาอุปไมย(การเปรียบเทียบ) ตัวเลข สถิติ ตลอดจนคำถามหรือคำพูดของผู้เขียนซึ่งเป็นส่วนขยายใจความสำคัญ

          ๓. สรุปใจความสำคัญด้วยสำนวนภาษาของตนเอง

การพิจารณาตำแหน่งใจความสำคัญ

          ใจความสำคัญของข้อความในแต่ละย่อหน้าจะปรากฏดังนี้

                   ๑.   ประโยคใจความสำคัญอยู่ตอนต้นของย่อหน้า

                   ๒.   ประโยคใจความสำคัญอยู่ตอนกลางของย่อหน้า

                   ๓.   ประโยคใจความสำคัญอยู่ตอนท้ายของย่อหน้า

                   ๔.  ประโยคใจความสำคัญอยู่ตอนต้นและตอนท้ายของย่อหน้า

                   ๕.   ผู้อ่านสรุปขึ้นเอง จากการอ่านทั้งย่อหน้า(ในกรณีใจความสำคัญหรือความคิดสำคัญอาจอยู่รวมในความคิดย่อย ๆ โดยไม่มีความคิดที่เป็นประโยคหลัก)

ตัวอย่างตำแหน่งใจความสำคัญ

ใจความสำคัญอยู่ตอนต้นย่อหน้า
ความสมบูรณ์ของชีวิตมาจากความเข้าใจชีวิตเป็นพื้นฐาน คือ เข้าใจธรรมชาติ เข้าใจความเป็นมนุษย์ และความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ มีความรัก ความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติอย่างจริงใจ

ใจความสำคัญอยู่ตอนท้ายย่อหน้า
ความเครียดทำให้เพิ่มฮอร์โมนอะดรีนาลีนในเลือด  ทำให้หัวใจเต้นเร็ว เส้นเลือดบีบตัว กล้ามเนื้อเขม็งตึง ระบบย่อยอาหารผิดปกติเกิดอาการปวดหัว ปวดท้อง ใจสั่น แข้งขาอ่อนแรง  ความเครียดจึงเป็นตัวการให้แก่เร็ว

ใจความสำคัญอยู่ตอนกลางย่อหน้า
โดยทั่วไปผักที่ขายตามท้องตลาดส่วนใหญ่เกษตรกรมักใช้สารกำจัดศัตรูพืช หากไม่มีความรอบคอบในการใช้ จะทำให้เกิดสารตกค้าง ทำให้มีปัญหาต่อสุขภาพ ฉะนั้นเมื่อซื้อผักไปรับประทานจึงควรล้างผักด้วยน้ำหลายๆครั้ง เพราะจะช่วยกำจัดสารตกค้างไปได้บ้าง บางคนอาจแช่ผักโดยใช้น้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนตก็ได้ แต่อาจทำให้วิตามินลดลง

ใจความสำคัญอยู่ทั้งตอนต้นและตอนท้ายย่อหน้า
การรักษาศีลเพื่อบังคับตนเองให้มีระเบียบวินัยในการกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น เรามาอยู่วัด มานุ่งขาวห่มขาว ไม่ใช่ถือแต่ศีลแปดข้อเท่านั้น แต่เราต้องนึกว่าศีลนั้นคือความมีระเบียบ มีวินัย เราเดินอย่างมีระเบียบมีวินัย นั่งอย่างมีระเบียบ กินอย่างมีระเบียบ ทำอะไรก็ทำอย่างมีระเบียบนั่นเป็นคนที่มีศีล ถ้าเราไม่มีระเบียบก็ไม่มีศีล

ใจความสำคัญไม่ปรากฏในส่วนใด ต้องสรุปเอง
การเดิน การว่ายน้ำ การฝึกโยคะ การออกกำลังกายด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนการหายใจลึกๆ ล้วนมีส่วนทำให้สุขภาพแข็งแรง
ใจความสำคัญคือ  การทำให้สุขภาพแข็งแรงทำได้หลายวิธี
ที่มา : จุไรรัตน์  ลักษณะศิริ และบาหยัน อิ่มสำราญ , การใช้ภาษาไทย, 2547, หน้า 45-46

โคลงสี่สุภาพ

โคลงสี่สุภาพ เป็นโคลงชนิดหนึ่งที่กวีนิยมแต่งมากที่สุด ด้วยเสน่ห์ของการบังคับวรรณยุกต์เอกโทอันเป็นมรดกของภาษาไทยที่ลงตัวที่สุด คำว่า สุภาพ หรือ เสาวภาพ หมายถึงคำที่มิได้มีรูปวรรณยุกต์

โคลงสี่สุภาพ ปรากฏในวรรณกรรมไทย ตั้งแต่สมัยต้นอยุธยา ปรากฏในมหาชาติคำหลวงเป็นเรื่องแรก และมีวรรณกรรมที่แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ 3 เรื่อง ได้แก่ โคลงนิราศหริภุญชัย โคลงมังทราตีเชียงใหม่ และลิลิตพระลอ

สมัยอยุธยาตอนกลาง วรรณกรรมที่ใช้โคลงสี่สุภาพ ได้แก่ โครงเรื่องพาลีสอนน้อง โคลงทศรถสอนพระราม และโคลงราชสวัสดิ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระนายรายณ์มหาราช โคลงเฉลิมพระเกียรติพระนารายณ์มหาราช โคลงนิราศนครสวรรค์ กาพย์ห่อโคลงและโคลงอักษรสามของพระศรีมโหสถ

สมัยอยุธยาตอนปลาย ได้แก่ โคลงนิราศพระบาท โคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัย และกาพย์ห่อโคลงพระราชนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร

สมัยธนบุรี ได้แก่ โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี และลิลิตเพชรมงกุฎสมัยรัตนโกสินทร์ วรรณกรรมที่ใช้โคลงสี่สุภาพที่เด่น ๆ ได้แก่ ลิลิตตะเลงพ่าย โคลงนิราศนรินทร์ โคลงนิราศสุพรรณ โคลงโลกนิติ สามกรุง

โคลงสี่สุภาพเป็นคำประพันธ์ที่กวีชอบแต่งและผ่านการพัฒนามายาวนานจนมีฉันทลักษณ์ที่ลงตัวและเป็นแบบฉบับดังที่ยึดถือกันในปัจจุบัน
โคลงสี่สุภาพซึ่งถือเป็นโคลงแม่บท
    เสียงลือเสียงเล่าอ้าง     อันใด  พี่เอย

         เสียงย่อมยอยศใคร             ทั่วหล้า 

         สองเขือพี่หลับใหล              ลืมตื่น  ฤๅพี่

         สองพี่คิดเองอ้า                   อย่าได้ถามเผือ

                                                                                            (ลิลิตพระลอ)

           
ลักษณะบังคับของโคลงสี่สุภาพ 

            ๑.  คณะ   โคลงสี่สุภาพบทหนึ่งมี  ๔  บาท
                        บาทที่  ๑ , ๒ , ๓   มีบาทละ  ๒  วรรค  และมีจำนวนคำเท่ากัน  คือ วรรคหน้า    มี  ๕ คำ  ส่วนวรรคหลังมี  ๒  คำ
                        บาทที่  ๔  มี  ๒  วรรค  เช่นกัน  แต่เพิ่มจำนวนคำในวรรคหลังอีก  ๒  คำ  ฉะนั้นวรรคหน้าของโคลงบาทที่ ๔  จึงมี  ๕  คำ  ส่วนวรรคหลังมี  ๔  คำ
            ๒.  พยางค์และคำสร้อย    จำนวนพยางค์และคำในแต่ละบท  รวมแล้วมี  ๓๐  คำ
            คำสร้อย  คือ  คำที่แต่งท้ายบาทของโคลงตามข้อบังคับ  เพื่อทำให้ได้ใจความครบถ้วน  ถ้าโคลงบาทใดได้ความครบถ้วนแล้ว  ก็ไม่ต้องเติมคำสร้อย
            ตำแหน่งที่กำหนดให้เติมคำสร้อย  คือ  ท้ายบาทที่  ๑  และท้ายบาทที่  ๓
            คำสร้อยต้องมีแห่งละ ๒  คำเสมอ  คำแรกเป็นคำสุภาพที่ต้องการเสริมความให้สมบูรณ์  ส่วนคำหลังมักลงท้ายด้วยคำต่อไปนี้

พ่อ  แม่  พี่  รา  แล  เลย  เอย  นา  นอ  เนอ  ฤๅ  ฮา  แฮ  เฮย  และมีอีกคำหนึ่งที่พบในโคลงโบราณ  คือ คำว่า  บารนี  ซึ่งใช้คำสร้อยได้ครบพยางค์โดยไม่ต้องเติมคำอื่น

 ๓.  สัมผัส  คำเอกคำโท  คำเป็นคำตาย

       ๓.๑   สัมผัส    ดูจากแผนผังต่อไปนี้

๓.๒   คำเอกคำโท    กำหนดในตำแหน่งที่พิมพ์ด้วยเครื่องหมาย  เอก  โท  ในแผนผัง  รวมมีคำเอก  ๗  แห่ง  และคำโท  ๔  แห่ง  นอกนั้นเป็นคำสุภาพธรรมดา   ไม่จำเป็นต้องเป็นเอกโทจะเป็นเสียงวรรณยุกต์อะไรก็ได้

            ในการแต่งโคลงสี่สุภาพ  บางครั้งเมื่อไม่สามารถหาคำที่มีรูปวรรณยุกต์เอก  หรือรูปวรรณยุกต์โทมาใช้ในที่บังคับวรรณยุกต์ตามแผนผังได้  ผู้แต่งจำเป็นต้องใช้คำเอกโทษ  หรือ   คำโทโทษ  คือ  นำคำที่ต้องการใช้ไปเปลี่ยนให้เป็นรูปวรรณยุกต์เอก  หรือโท  แต่ถ้าไม่จำเป็นอย่างยิ่งแล้วก็ไม่ควรใช้  เพราะทำให้รูปคำเสีย  และความหมายอาจเปลี่ยนไป  เช่น  ใช้คำว่า   ข้า  แทนคำว่า  ฆ่า  เป็นต้น    อีกกรณีหนึ่งคือ  คำเอก  คำโท  ที่อยู่ติดกัน บางครั้งอาจสลับที่กันได้

๓.๓   คำเป็นคำตาย    คำตายใช้แทนวรรณยุกต์เอกได้ทุกแห่งที่บังคับคำเอก    ไม่ว่าคำตายนั้น ๆ จะมีเสียงวรรณยุกต์ใด  อาจเป็นคำตายเสียงเอก  เช่น  บาด  จิต  คำตายเสียงโท  เช่น  วาด  ภาพ  หรือคำตายเสียงตรี  เช่น  พบ  รัก  เป็นต้น

 ๔.  สัมผัสบท    ถ้าเขียนโคลงสี่สุภาพ ความยาวเกินกว่า  ๑  บท  จะต้องมีสัมผัสบทโดยคำสุดท้ายของบาทที่  ๔  บทต้น  สัมผัสกับคำที่  ๑ , ๒ หรือ  ๓  ของบาทที่  ๑ 

อ้างอิง

  • https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%87%E0%B8%94
  • https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E
  • https://www.gotoknow.org/posts/413872

การอ่านรู้เรื่อง/การรู้เรื่องการอ่าน (Reading Literacy) ตามแนวทาง PISA


PISA คืออะไร
    PISA เป็นคำย่อมาจากคำว่า Programme for International Student Assessment หรือ โครงการประเมินผลการศึกษานักเรียนนานาชาติ เป็นโครงการประเมินผลการศึกษาของประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) มีจุดประสงค์เพื่อสำรวจว่าระบบการศึกษาของประเทศได้เตรียมเยาวชนของชาติให้พร้อมสำหรับการใช้ชีวิตและการมีส่วนร่วมในสังคมในอนาคตเพียงพอหรือไม่ โดย PISA เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนวัย 15 ปี ที่จะใช้ความรู้และทักษะในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เพื่อเผชิญกับโลกในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน
สาระสำคัญในการประเมิน PISA
     ในช่วงเวลาที่ผ่านมาการประเมินของ PISA ได้กำหนดกรอบการประเมินความรู้และทักษะหรือที่เรียกว่า “การรู้เรื่อง” (Literacy) ไว้ 3 ด้าน แต่ในปี 2015 ได้กำหนดกรอบการประเมินเพิ่มเติม ด้านการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ โดยแต่ละด้านมีสาระสำคัญในการประเมิน ดังนี้
1. การรู้เรื่องการอ่าน (Reading Literacy) หมายถึง ความสามารถที่จะทำความเข้าใจกับสิ่งที่ได้อ่าน สามารถนำไปใช้สะท้อนออกมาเป็นความคิดเห็นของตนเอง และมีความรักและผูกพันกับการอ่าน เพื่อพัฒนาความรู้และศักยภาพ และการมีส่วนร่วมในสังคมการประเมินคาดหวังให้นักเรียนแสดงความสามารถด้านการอ่านดังนี้
1.1 การเข้าถึงและค้นคืนสาระ
     • รู้ขอบเขตของข้อสนเทศที่ต้อการว่าอยู่ในตำแหน่งใดของเรื่องที่อ่าน
     • จำแนกความเหมือนและความแตกต่างของข้อสนเทศที่มีอยู่ในเนื้อเรื่อง
1.2 การบูรณาการและตีความ
     • แสดงความเข้าใจโดยสามารถระบุใจความสำคัญหรือจุดประสงค์ของเรื่อง
     • เชื่อมโยงส่วนต่างๆ ของข้อสนเทศที่หลากหลายเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องที่อ่าน
     • ตีความเนื้อเรื่องเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจในสิ่งที่อ่านได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
1.3 การสะท้อนและประเมิน
     • วิเคราะห์เนื้อเรื่อง รูปแบบ และวิธีการเขียนของเรื่องที่อ่าน
     • ประเมิน แสดงความคิดเห็นและให้ข้อโต้แย้งจากมุมมองของตนเองได้
นักเรียนต้องใช้สมรรถนะในการอ่านเนื้อเองจากสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบที่หลากหลาย บางครั้งต้องนำความรู้อื่นๆ นอกเหนือจากเนื้อเรื่องมาเชื่อมโยงกับสาระสำคัญภายในเรื่องที่ได้อ่านแล้วสะท้อนสิ่งที่ได้อ่านออกมาตามความคิดของตนอย่างสมเหตุสมผล

2. การรู้เรื่องคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการคิด ใช้ ตีความคณิตศาสตร์ในสถานการณ์ต่างๆ ที่หลากหลาย รวมถึงการให้เหตุผลอย่างเป็นคณิตศาสตร์ ใช้แนวคิดและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ในการอธิบายและทำนายปรากฏการณ์ต่างๆ
กระบวนการทางคณิตศาสตร์ของ PISA แบ่งเป็น 3 กระบวนการ ดังนี้
2.1 การคิดสถานการณ์ของปัญหาในเชิงคณิตศาสตร์
     • ระบุประเด็นทางคณิตศาสตร์ของปัญหาในชีวิตจริง
     • ทำสถานการณ์หรือปัญหาให้อยู่ในรูปอย่างง่ายเพื่อทำให้การวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ง่ายขึ้น
     • แปลปัญหาให้อยู่ในรูปของภาษาทางคณิตศาสตร์
2.2 การใช้หลักการและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ในการแก้ปัญหา
     • คิดและนำกลยุทธ์ในการหาวิธีแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ไปใช้
     • ใช้เครื่องมือทางคณิตศาสตร์เพื่อช่วยหาวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องหรือเหมาะสม
     • นำกฎเกณฑ์ ขั้นตอนวิธีและโครงสร้างทางคณิตศาสตร์ไปใช้ในการแก้ปัญหา
2.3 การตีความและประเมินผลลัพธ์ทางคณิตศาสตร์
     • ตีความผลลัพธ์ทางคณิตศาสตร์กลับไปสู่บริบทในชีวิตจริง
     • ประเมินความเป็นเหตุเป็นผลของวิธีแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ในบริบทของปัญหาชีวิตจริง
    • อธิบายความสมเหตุสมผลของผลลัพธ์หรือข้อสรุปทางคณิตศาสตร์กับบริบทของปัญหา
      ในการทำแบบทดสอบคณิตศาสตร์ นักเรียนต้องใช้กระบวนการทางคณิตศาสตร์ซึ่งเริ่มจากการคิดว่าคณิตศาสตร์ไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์นั้นอย่างไร และแปลงปัญหาในชีวิตจริงให้อยู่ในรูปปัญหาทางคณิตศาสตร์ แล้วใช้วิธีกรทางคณิตศาสตร์เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ จากนั้นจึงตีความและประเมินผลลัพธ์ที่ได้ไปสู่บริบทในชีวิตจริง
3. การรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy) หมายถึง ความสามารถของบุคคลที่จะเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้ากับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างไตร่ตรอง
PISA คาดหวังให้นักเรียนแสดงความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ ดังนี้
3.1 การอธิบายปรากฏการณ์ในเชิงวิทยาศาสตร์
      • ดึงความรู้วิทยาศาสตร์มาใช้ในการสร้างคำอธิบายที่สมเหตุสมผล
      • พยากรณ์การเปลี่ยนแปลงในเชิงวิทยาศาสตร์และให้เหตุผลที่สมเหตุสมผล
      • อธิบายถึงศักยภาพของความรู้วิทยาศาสตร์ที่สามารถนำไปใช้เพื่อสังคม
3.2 การประเมินและออกแบบกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์
      • ระบุปัญหาที่ต้องการสำรวจในการศึกษาทางวิทยาศาสตร์
      •บอกได้ว่าประเด็นปัญหาหรือคำถามใดสามารถตรวจสอบได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์
      • บอกและประเมินวิธีสำรวจตรวจสอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์ได้
3.3 การแปลความหมายข้อมูลและประจักษ์พยานในเชิงวิทยาศาสตร์
      • วิเคราะห์และแปลความหมายข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และลงข้อสรุป
      • ระบุข้อสันนิษฐาน ประจักษ์พยาน (หลักฐาน) และเหตุผลในเรื่องที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์
      • ประเมินข้อโต้แย้งทางวิทยาศาสตร์และหลักฐานที่มาที่หลากหลาย
นักเรียนต้องใช้ความรู้ด้านเนื้อหา ความรู้ด้านกระบวนการ และความรู้เกี่ยวกับการได้มาของความรู้ร่วมกับสมรรถนะต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาในแบบทดสอบวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่หลากหลายในชีวิตจริงและเกี่ยวข้องกับตัวเอง ท้องถิ่น ประเทศหรือสถานการณ์ของโลก
4. การแก้ปัญหาแบบร่วมมือ (Collaborative Problem Solving) หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการเข้าร่วมกระบวนการแก้ปัญหาของกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการแบ่งปันความเข้าใจที่มีและรวบรวมความรู้ ทักษะและความพยายามเข้าด้วยกันเพื่อแก้ปัญหา
PISA คาดหวังให้นักเรียนแสดงความสามารถด้านการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ ดังนี้
4.1 การสร้างและเก็บรักษาความเข้าใจที่มีร่วมกัน
     • รู้ละเข้าใจข้อสนเทศสำคัญ รวมทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนที่สัมพันธ์กับงานที่ตนเองและเพื่อนร่วมกลุ่มมี
     • สื่อสารข้อสนเทศ ติดตาม แก้ไขและเก็บรักษาความเข้าใจที่มีร่วมกันตลอดการทำภารกิจ
4.2 การเลือกวิธีดำเนินการที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา
    • เข้าใจปัญหาและรู้แนวทางการแก้ปัญหาที่เหมาะสมเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
    • มีการสื่อสารในกลุ่มระหว่างทำงานร่วมกันโดยใช้การอธิบาย การอภิปราย การต่อรอง การให้เหตุผล และการโต้แย้ง
    • ดำเนินการตามแผนที่วางไว้ร่วมกันตามบริบทหน้าที่ของตน
4.3 การสร้างและรักษาระเบียบของกลุ่ม
    • เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนและเพื่อนร่วมกลุ่ม รวมทั้งเฝ้าติดตามและรักษากฎระเบียบที่มีร่วมกัน
    • สื่อสารและถ่ายทอดข้อสนเทศที่สำคัญ ตลอดจนปัญหาและอุปสรรค์ที่เกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมกลุ่ม
     ในการทำแบบทดสอบการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ นักเรียนต้องใช้สมรรถนะเพื่อแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในและนอกโรงเรียน จะกำหนดเป้าหมายและเงื่อนไปของภารกิจไว้ นักเรียนต้องทำความเข้าใจภารกิจ รู้บทบาทหน้าที่ของตนและเพื่อน แล้วสื่อสารแบ่งปันข้อมูลและร่วมกันแก้ปัญหากับเพื่อนร่วมกลุ่มให้สำเร็จ ผ่านการแชท (chat) โต้ตอบกับเพื่อนร่วมกลุ่มซึ่งเป็นบุคคลสมมติ ในคอมพิวเตอร์
การอ่านตามนิยามของ PISA
      PISA ให้นิยามการรู้เรื่องการอ่าน (Reading literacy) หมายถึง ความรู้และทักษะที่จะเข้าใจเรื่องราวและสาระของสิ่งที่ได้อ่าน ตีความหรือแปลความหมายของข้อความที่ได้อ่าน และประเมิน คิดวิเคราะห์ ย้อนกลับไปถึงจุดมุ่งหมายของการเขียนได้ว่าต้องการส่งสารสาระอะไรให้ผู้อ่าน ทั้งนี้เพื่อจะประเมินว่านักเรียนได้พัฒนาศักยภาพในการอ่านของตนและสามารถใช้การอ่านให้เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ ในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมและความเป็นไปของสังคมอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่เพียงใด เพราะการประเมินของ PISA นั้นเน้น “การอ่านเพื่อการเรียนรู้” มากกว่าทักษะในการอ่านที่เกิดจากการ “การเรียนรู้เพื่อการอ่าน” และ PISA ประเมินผลเพื่อศึกษาว่านักเรียนจะสามารถรู้เรื่องที่ได้อ่าน สามารถขยายผลและคิดย้อนวิเคราะห์ความหมายของข้อความที่ได้อ่าน เพื่อใช้ตามวัตถุประสงค์ของตน ในสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างกว้างขวางทั้งในโรงเรียนและในชีวิตจริงนอกโรงเรียน
      นิยามเรื่องการอ่านของ PISA จึงมีความหมายกว้างกว่าการอ่านออกและอ่านรู้เรื่องในสิ่งที่อ่านตามตัวอักษรเท่านั้น แต่การอ่านยังได้รวมถึงความเข้าใจเรื่องราวสาระของเนื้อความ สามารถคิดพิจารณาถึงจุดมุ่งหมายของการเขียน สามารถนำสาระจากข้อเขียนไปใช้ในจุดมุ่งหมายของตน และทำให้สามารถมีส่วนร่วมในสังคมสมัยใหม่ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนขึ้น ด้วยการสื่อสารจากข้อเขียน
วิธีการวัดความรู้และทักษะการอ่านของ PISA
      ในการทดสอบการอ่าน นักเรียนจะได้รับข้อความต่างๆ หลากหลายแบบด้วยกันให้อ่าน แล้วให้แสดงออกมาว่ามีความเข้าใจอย่างไร โดยให้ตอบโต้ ตอบสนอง สะท้อนออกมาเป็นความคิดหรือคำอธิบายของตนเอง และให้แสดงว่าจะสามารถใช้สาระจากสิ่งที่ได้อ่านในลักษณะต่าง ๆ กัน ได้อย่างไร
องค์ประกอบของความรู้และทักษะการอ่านที่ประเมิน
PISA เลือกที่จะประเมินโดยใช้แบบรูปการอ่าน 3 แบบด้วยกัน ได้แก่
     ก) การอ่านข้อเขียนรูปแบบต่างๆ
          PISA ประเมินการรู้เรื่องจากการอ่านข้อความแบบต่อเนื่อง ให้จำแนกข้อความแบบต่างๆ กัน เช่น การบอก การพรรณนา การโต้แย้ง นอกจากนั้น ยังมีข้อเขียนที่ไม่ใช่ข้อความต่อเนื่อง ได้แก่ การอ่านรายการ ตาราง แบบฟอร์ม กราฟ และแผนผัง เป็นต้น ทั้งนี้ ได้ยึดสิ่งที่นักเรียนได้พบเห็นในโรงเรียน และจะต้องใช้ในชีวิตจริงเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
     ข) สมรรถนะการอ่านด้านต่างๆ 3 ด้าน
          เนื่องจาก PISA ให้ความสำคัญกับการอ่านเพื่อการเรียนรู้ มากกว่าการเรียนเพื่อการอ่าน นักเรียนจึงไม่ถูกประเมินการอ่านธรรมดา (เช่น อ่านออก อ่านได้คล่อง แบ่งวรรคตอนถูก ฯลฯ) เพราะถือว่านักเรียนอายุ 15 ปี จะต้องมีทักษะเหล่านั้นมาแล้วเป็นอย่างดี แต่ PISA จะประเมินสมรรถภาพของนักเรียนในแง่มุมต่อไปนี้
       1) ความสามารถที่จะดึงเอาสาระของสิ่งที่ได้อ่านออกมา (Retrieving information) ต่อไปจะใช้คำว่า “การเข้าถึงและค้นสาระ”
       2) ความเข้าใจข้อความที่ได้อ่าน สามารถตีความ แปลความสิ่งที่ได้อ่าน คิดวิเคราะห์เนื้อหาและรูปแบบของข้อความที่เกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตหรือในโลกที่อยู่ (Interpretation) ซึ่งต่อไปจะใช้คำว่า “การบูรณาการและตีความ”
       3) ความเข้าใจข้อความที่ได้อ่าน สามารถตีความ แปลความสิ่งที่ได้อ่าน คิดวิเคราะห์เนื้อหาและรูปแบบของข้อความที่เกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตหรือในโลกที่อยู่ พร้อมทั้งความสามารถในการประเมินข้อความที่ได้อ่าน และสามารถให้ความเห็น หรือโต้แย้งจากมุมมองของตน (Reflection and Evaluation) หรือเรียกว่า “การสะท้อนและประเมิน : วิเคราะห์”
     ค) ความสามารถในการใช้การอ่าน
PISA ประเมินความรู้และทักษะการอ่านอีกองค์ประกอบหนึ่ง โดยดูความสามารถในการใช้การอ่านที่ว่ามีความเหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะของข้อเขียนได้มากน้อยเพียงใด เช่น ใช้นวนิยาย จดหมาย หรือชีวะประวัติเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ใช้เอกสารราชการหรือประกาศแจ้งความเพื่อสาธารณประโยชน์ ใช้รายงานหรือคู่มือต่างๆ เพื่อการทำงานอาชีพ ใช้ตำราหรือหนังสือเรียน เพื่อการศึกษา เป็นต้น